บริการสืบค้น

Custom Search
วัดสุวรรณดาราราม
23:29 | เขียนโดย
noui004 |
แก้ไขบทความ
วัดแห่งนี้มีสิ่งต่างๆ ที่น่าชมไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถซึ่งยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ ทำส่วนฐานโค้งอ่อนลงตรงกลางคล้ายปากเรือสำเภา หน้าบันอุโบสถสลักลายเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมที่ผนังอุโบสถตอนบน ตอนล่างเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย มีแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง ส่วนพระประธานในพระอุโบสถรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกต นอกจากนั้นภายในพระวิหารมีลักษณะรูปแบบฐานเป็นเส้นตรง ไม่ใช้ฐานอ่อนโค้งตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา บัวหัวเสามีลักษณะเป็นบัวกลีบยาวหรือบัวแวง พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายในพระวิหารมีภาพเขียนสีในสมัยรัชกาลที่ 7 แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีฝีมือยอดเยี่ยมงดงามมาก กรมศิลปากรได้ถ่ายแบบภาพเขียนนี้ไปไว้ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
บริเวณหน้าพระอุโบสถจะเห็น แท่นพระศรีมหาโพธิ์ ลักษณะเป็นแท่นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำหน่อโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย ไม่ไกลกันนั้นมี หอระฆัง ลักษณะแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่ออิฐถือปูน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นล่างเจาะประตูเป็นรูปโค้งแหลม ชั้นบนเป็นส่วนของหอระฆัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง
เป็นวัดที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจมาดูภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังในวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมัน
ฝีมือของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร เป็นภาพ เรื่องพระราชพงศาวดาร
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริงมีใบหน้า ร่างกายกล้ามเนื้อ
และสัดส่วนต่างตามสรีระของบุคคลจริง อันมีอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้

ประวัติ
วัดสุวรรณดาราราม ตั้งอยู่ภายในกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางทิศใต้ ริมป้อม เพชรตำบลหอรัตไชย
อำเภอพระนครศรีอยุธยา บิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สร้าง “วัดทอง”
ขึ้นใกล้กับบริเวณนิวาสถานเดิม
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองก็ถูกพม่าทำลาย
กลายเป็นวัดร้างมานานถึง 18 ปี
ครั้นใน พ.ศ.2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษก
และสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ต่อมาใน พ.ศ.2328 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์วัดทองที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่กรุงแตกใหม่ทั้งอาราม ในการปฏิสังขรณ์
และการก่อสร้างครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุร สิงหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์
และก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ และหมู่กุฏิทั้งหมดด้วย เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ
พระองค์ได้พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา(ทองดี)และพระราชมารดา(ดาวเรือง)
ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์
รัชกาลต่อมาแห่งราชวงค์จักรี ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ต่อมาเป็นลำดับ มีการก่อสร้างพระวิหาร
เจดีย์ กำแพงแก้ว และปูชนียสถานอื่นๆภายในพระอารามแห่งนี้ นับได้ว่าวัดสุวรรณดารา
เป็นพระอารามแห่งราชวงศ์จักรีโดยแท้ และเป็นวัดที่สวยงามมีสง่าน่าชมยิ่งนัก
จุดหน้าสนใจ
พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้ สิ่งที่สวยงามสะดุดตาก็คือ หลังคาพระอุโบสถประดับช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำด้วยไม้สัก แกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทอง
ประดับกระจกตลอด เฉพาะคันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาพระอุโบสถทุกตัว ได้แกะสลักเป็นราย
นกพันรอบทวย ลวดลายอ่อนช้อยงดงามยิ่งนักรูปทรงพระอุโบสถภายนอกเป็นรูปทรงเรือสำเภา
ซึ่งนับเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ที่ยังเหลือไว้ให้ได้ศึกษา
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานซึ่งจะลองขยายส่วนจาก
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
รูปทรงงดงาม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือพระรัตน
บัลลังก์ที่ประดับกระจกสีด้านซ้าย และขวาเป้นที่ประดิษฐานนพดลมหาเศวตรฉัตร
เพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจก
ตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร 12 ดวง ภายในกรอบย่อมุมไม้สิบสอง
วิหารมีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ โครงสร้างพระวิหารเหมือนกับอุโบสถ
แต่ไม่มีคันทวย และหน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณยืนแท่น ทูนแว่นฟ้า บนพานมีฉัตร 5 ชั้น
ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง มีเรือนแก้วแบบเรือนแก้ว
พระพุทธชินราช แต่เป็นจำหลักเขียนสีปิดทอง
สิ่งสำคัญภายในวัดซึ่งถือว่ามีคุณค่าควรแก่การดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือ
ภาพจิตรกรรมฝาฝนังในพระอุโบสถ และพระวิหาร โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถ
ซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนต้น
รัตนโกสินทร์ ซึ่งเขียนเรื่องพุทธประวัติ ไตรภูมิ ทศชาติชาดก การลำดับภาพ
คือฝาผนังด้านข้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนเหนือขอบหน้าต่าง เขียนภาพเทพชุมนุม 2 ชั้น
ชั้นละ 16 องค์ ชั้นบนเป็นรูปเทพ ชั้นล่างเป็นรูปเทพและยักษ์ซึ่งเทพชั้นนี้ถือเป็นเทพชั้นต่ำสุด
เทพทุกพระองค์พนมมือหันหน้าไปทางองค์พระประธาน
ภาพส่วนล่าง ที่ห้องภาพระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพเรื่องทศชาติชาดก
ส่วนฝาผนังด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย มีขนาดใหญ่เต็มผนัง
และด้านหลังเป็นภาพเรื่องไตรภูมิ
ภาพเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงเรื่องตั้งแต่เมื่อ
เสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2112 ตั้งแต่ตอนที่พระนเรศวรไปเป็นองค์จำนำอยู่ที่เมืองหงสาวดี
ประเทศพม่า มีภาพตอนพระองค์ทรงเล่นตีไก่กับมังสามเกลียด ภาพฝาผนังหนังด้านหน้า
เป็นภาพใหญ่เต็มฝาผนังแสดงเรื่องตอน สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช
การเดินทาง
หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32)เลี้ยวซ้าย
ตรงสี่แยกเข้าอยุธยา พอข้ามสะพานนเรศวร ให้เลี้ยวซ้ายเลย จะเห็นป้ายทางเข้าวัด
วัดหน้าพระเมรุ
03:16 | เขียนโดย
noui004 |
แก้ไขบทความ
ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส
วัดสมณโกฏฐาราม
03:08 | เขียนโดย
noui004 |
แก้ไขบทความ

ปัจจุบันไม่มีสิ่ง ก่อสร้างใดๆ หลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้เลย ดังนั้นวัดพระยาพระคลังที่หมอแกมป์เฟอร์ระบุไว้ในแผนที่อาจหมายถึงวัดสมณโกฏฐารามก็เป็นได้ หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เมื่อกล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งทรงพระเยาว์ได้อ้างตามจดหมายเหตุของพระอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาส ว่า เมื่อนายสินเจริญวัยได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากไว้ในสำนักพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ ณ วัดโกษาวาส นัยหนึ่งว่าวัดคลัง เขียนหนังสือขอมไทยและคัมภีร์พระไตรปิกฎ และเมื่ออายุ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรีก็ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุ อยู่ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส ได้ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขาบทออกมารับราชการดังเดิม ชื่อวัดและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องจากจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษรวมทั้งลักษณะภูมิสถาปัตยกรรมที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักฐานยืนยันประวัติความเป็นมาของวัดสณโกฏฐารามที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สองเจ้าพระยาพระคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้หลังจากกลับจากตีเมืองเชียงใหม่ แต่ประวัติบอกเล่าที่ว่าเนินปรางค์หลังวิหารเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์พรรณนาถึงงานศพมารดา ของพระยาพระคลังผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศสยามและเป็นผู้ว่าการต่างประเทศว่า ที่ปลงศพอยู่ตรงหว่างสาขาแม่น้ำตรงข้ามกับตัวเมือง
ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้หาใช่ที่ตั้งของวัดสมณโกฏฐารามไม่ น่าจะเป็นวัดดุสิดารามมากกว่า และจากภาพวาดของหมอแกมป์เฟอร์ ขณะนั้นก็มีองค์ปรางค์อยู่แล้ว หากเนินปรางค์นี้จะเป็นสิ่งอนุสรณ์ถึงเจ้าแม่วัดดุสิต ก็อาจจะเป็นเพราะได้มีผู้บูรณปฏิสังขรณ์องค์ปรางค์ พร้อมทั้งสร้างเจดีย์รายทั้ง ๔ มุม อุทิศเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าแม่วัดดุสิตภายหลังงานพระราชทานเพลิงแล้ว และสมัยศิลปะของปรางค์และเจดีย์รายก็เป็นยุคอยุธยาตอนปลาย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันฐานะความเป็นพระอารามหลวงของวัดสมณโกฏฐาราม ดังปรากฏชื่อวัดนี้ในคำให้การตอนทำเนียบวัด (พระอารามหลวง) ในกรุงศรีอยุธยา มีชื่อ วัดจโมรกุฏ อยู่ในอันดับที่ ๑๗ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานคำอธิบายไว้ในวงเล็บท้ายชื่อว่า วัดสมณะโกฎิ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว วัดสมณโกฏฐารามมีสภาพเป็นวัดร้าง จน พ.ศ. ๒๕๐๒ พระอาจารย์เจริญได้รับนิมนต์มาเป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัด ในชั้นแรกได้ใช้โบสถ์ซึ่งอยู่ในสภาพรกร้างเป็นที่พำนักก่อน ประชาชนย่านใกล้เคียงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นอีกครั้ง จนวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ทางราชการได้ประกาศยกสภาพวัดจากวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ เปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดสมณโกษ เป็น วัดสมณโกฏฐาราม มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด จากการสำรวจทางโบราณคดีสภาพทั่วไปและลักษณะผังของวัดสมณโกฏฐารามพบว่า ลักษณะแผนผังของวัดตั้งในแนวแกนตะวันออก – ตะวันตก โดยมีเจดีย์ทางปรางค์เป็นประธานของวัด ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ภายในระเบียงคดมีเจดีย์รายที่มุมทั้งสี่ของปรางค์ มีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีพระประธานขนาดใหญ่ประดิษฐานภายในวิหาร ที่ท้ายวิหารเชื่อมต่อกับระเบียงคด อุโบสถตั้งอยู่ด้านหลังปรางค์ประธานทางด้านทิศตะวันตก โดยอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะว้นตก ส่วนเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ระหว่างปรางค์ประธานและอุโบสถ ลักษณะแผนผังของวัดในสมัยแรกคงจะถูกล้อมรอบด้วยคลองในชั้นนอก และมีกำแพงวัดเป็นสิ่งกำหนดขอบเขตของโบราณสถานชั้นใน มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ดังนี้ วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีความกว้าง ๑๔ เมตร ส่วนความยาวจบชิดขอบถนนทางทิศตะวันออก ประมาณ ๓๘ เมตร แต่ขอบเขตความยาวของวิหารยังไม่แน่ชัด เนื่องจากติดถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด วิหารนี้เป็นอาคารขนาด ๙ ห้องเสา ฐานวิหารเป็นชุดฐานปัทม์ ผนังและพะไลของวิหารมีความกว้างอย่างละ ๑.๕๐ เมตร รวม ๓ เมตร ผลจากการขุดแต่งไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับแนวเสารับหลังคาบนพะไล แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีเสารับหลังคาบนพะไล เนื่องจากในหนังสือจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาระบุไว้ประกอบกับตัววิหารเป็นอาคารขนาดใหญ่ และมีความสูงเมื่อเทียบสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมจึงน่าจะมีเสารองรับชายคา บนพื้นวิหารพบแนวเสากลมสองแถว เส้นผ้าศูนย์กลาง ๑ เมตร ระยะห่างระหว่างเสา ๒.๕๐ เมตร แนวเสาที่พบส่วนใหญ่มีสภาพพังทลายจนเกือบหมด มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑ เมตร พื้นภายในวิหารเป็นพื้นปูอิฐขนาดใหญ่ รองรับพื้นปูกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปหินทรายขาวปางมารวิชัย พระเศียรรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบหยักหลายชั้นยาวจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน พระพุทธรูปประธานนี้ทางวัดได้ทาสีขาวทับเมื่อปฏิสังขรณ์ และยกสภาพจากวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษา หลวงพ่ออั้น เจ้าคณะตำบล ซึ่งเป็นผู้นำในการปฏิสังขรณ์ในขณะนั้นตั้งชื่อว่า พระพิชิตมารโมฬี และมีชื่อเรียกทั่วไปว่า หลวงพ่อขาว ที่ด้านข้างของฐานชุกชีทั้งสองด้านประดิษฐานพระอัครสาวก ถัดจากพระอัครสาวกไปทางด้านขวาของพระประธานเป็นศาลเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ส่วนทางด้านซ้ายของพระประธานเป็นศาลเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อุโบสถ อุโบสถวัดสมณโกฏฐารามตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ประธาน ตัวอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ฐานเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ตั้งบนฐานหน้ากระดานสูง ๙ เมตร ในชั้นแรกถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่รองรับส่วนของผนังทึบ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีรูปทรงแอ่นโค้งในลักษณะคล้ายเรือสำเภาทั้งทั้งด้านกว้างและด้านยาวของตัวอาคาร โดยสังเกตเห็นได้ชัดตั้งแต่ส่วนฐานขึ้นไปจนถึงส่วนยอด อุโบสถนี้เป็นอาคารที่มีมุขลด โดยมุขทางด้านตะวันออก – ตะวันตก สูงกว่าผนังด้านเหนือ – ใต้ บัวหัวเสาทำเป็นบัวแวงเหมือนกับวิหารของวัดกุฎีดาว แผนผังของอุโบสถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๖ เมตร เป็นอาคารขนาด ๗ ห้องเสา ทำเป็นอาคารที่สร้างมุขยื่นทางด้านหน้าและหลัง แต่ที่มุขทั้งสองสร้างเป็นผนังทึบแทนที่จะเป็นมุขโปร่ง มุขทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ส่วนของเสาอิงผนังที่เหลือ สูงสุด ๑๕, ๑๑ และ ๙ เมตร ตามลำดับ เท่ากัน ที่ผนังด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านหน้าปรากฏซุ้มหน้าต่างซึ่งมีแห่งเดียวเท่านั้น ลักษณะของหน้าต่างก่อเป็นซุ้ม ทรงบันแถลง กรอบหน้าบันมีชั้นเดียว ภายในซุ้มหน้าบันมีร่องรอยของการฉาบปูนซึ่งน่าจะมีการลงรักปิดทอง สำหรับที่ปนังทางทิศเหนือ- ใต้นั้น ส่วนของเสาอิงผนังที่เหลือสูงสุด เฉลี่ยประมาณ ๑๒ เมตร ปรากฏซุ้มประตูทางเข้าด้านละ ๒ แห่ง กว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร เท่ากัน เหนือผนังขึ้นไปเป็นหลังคาซึ่งสร้างครอบในสมัยปัจจุบัน สภาพภายในของอุโบสถซึ่งปัจจุบันยังคงใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่นั้น มีการเทปูนคอนกรีตทับพื้น, ฐานชุกชี และเสาเดิม สำหรับเสาภายในไม่ปรากฏให้เห็นเนื่องจากได้มีการสร้างทับตรงตำแหน่งเดิม แต่จากรูปแบบของอาคารที่มีขนาดกว้าง และยาวอย่างมากจึงน่าจะมีเสารองรับเครื่องบนหลังคาที่ทำด้วยไม้ซึ่งพังทลายลงหมดแล้ว และจากรูปแบบบัวหัวเสาที่เป็นบัวแวงและรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดกุฎีดาวดังกล่าว เสาภายในของอุโบสถหลังนี้น่าจะเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนที่ฐานชุกชีนั้นไม่สามารถทำการขุดแต่งตรวจสอบได้ เนื่องจากยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับมีพระประธานขนาดใหญ่และพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณด้านนอกรอบอุโบสถมีใบเสมาตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ใบเสมามีทั้งหมด ๘ หลัก ด้านหน้า ๑ หลัก ด้านหลัง ๑หลัก และด้านข้างด้านละ ๓ หลัก จัดเป็นเสมาขนาดกลางแบบเสมานั่งแท่น โดยมีรูปแบบแตกต่างกันถึง ๓ แบบ คือ แบบที่ ๑ เสมาหินทรายแดง เป็นแบบที่มีอยู่มากที่สุด ลักษณะเป็นใบเสมาแบบเก่าที่ฐานสลักลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ ช่อง กึ่งกลางช่องสลักลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ตรงเอวใบเสมาไม่มีตัวเหงา กึ่งกลางใบเสมาสลักลายในกรอบทรงสามเหลี่ยม และตกแต่งลายลูกน้ำเป็นเส้นขอบรอบตัวเสมากับลายสามเหลี่ยมกลางเสมา ส่วนบนยอดสุดของใบเสมาสลักลายพรรณพฤกษา กึ่งกลางเป็นลายดอกบัวในรูปวงกลม ซึ่งนายสันติ เล็กสุขุม สรุปไว้ในเรื่อง ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๑๗๒ - ๒๓๑๐) ว่า “ลายดอกบัวมีต้นแบบจากศิลปะจีนมาแพร่หลายอยู่ในศิลปะไทย ตั้งแต่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เช่นที่ประดับปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ลพบุรี และที่ปรากฏอยู่ในงานประดับของศิลปะทางภาคเหนือ รวมทั้งที่ทางสุโขทัยด้วย” แบบที่ ๒ เสมาหินทรายขาว มีลักษณะเอวเสมาคอดเล็ก มีตัวเหงา ๒ ข้าง มีแถบเส้นกลางสลักลวดลายที่บริเวณเชิงใบเสมา ที่ทับทรวง และส่วนยอดของใบเสมา ลักษณะโค้งแหลมกว่าแบบแรก แบบที่ ๓ เสมาหินชนวน เสมาหินชนวนอยู่ในสภาพชำรุด มีการสลักเป็นลายเส้นลวดตามขอบ แถบเส้นกลาง ส่วนยอดเหลือเพียงฐานของเม็ดทรงมัณฑ์ เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่ระหว่างปรางค์ประธานและอุโบสถ ภายหลังการขุดแต่งพบว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ฐานกลม ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมสามชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัว ถลา ซึ่งมีการพังทลายอย่างมาก ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานรองรับองค์ระฆังเตี้ย ลักษณะขององค์ระฆังเป็นองค์รูปแบบที่เป็นแบบอยุธยาตอนต้น เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมมีลวดลายปูนปั้นระดับผนังบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นโดยได้รับอิทธิพลลวดลายประดับแบบสุโขทัย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรและเสาหาน เหนือขึ้นไปเป็นปล่องไฉน จากการขุดตรวจสอบที่ฐาน พบว่ามีการสร้างทับบนฐานเดิม ขนาดกว้างยาวที่ฐานเท่าเดิม เพียงแต่เป็นการยกระดับที่พื้นฐานให้สูงกว่าเดิม ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เป็นการก่อขยายตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมของเจดีย์ เพื่อขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย แต่จาการเปรียบเทียบรูปแบบเจดีย์ที่มีการพอกทับสองครั้งดังกล่าว ยังคงเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่ โดยสรุป เจดีย์องค์นี้ในสมัยแรกก่อนที่จะมีการปรับพื้นยกระดับขึ้นจากเดิมนั้น สัดส่วนของฐานและองค์ระฆังกับส่วนยอดยังได้สัดส่วนที่เหมาะสมทางสถาปัตยกรรมอยู่ แต่เมื่อมีการปรับยกพื้นบริเวณวัดในสมัยหลังขึ้นมาอีก ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ในลักษณะเป็นการก่อพอกตามสัดส่วนของรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยเดิม ไม่ได้ก่อขึ้นใหม่ตามส่วนของฐานที่ยกพื้นสูงขึ้น จึงทำให้รูปแบบของเจดีย์องค์นี้ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยไม่ได้สัดส่วนสวยงามนัก ปรางค์ประธาน จากผลการขุดแต่งพบเฉพาะส่วนฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ ซึ่งมุมกลางมีขนาดใหญ่ขนาดของฐานในแนวเหนือ – ใต้ กว้าง ๑๗.๕๐ เมตร ส่วนแนวตะวันออก – ตะวันตก กว้าง ๒๐ เมตร มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้น ๒ ข้างที่ทางด้านมุขทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีความสูงจากระดับพื้น ถึงส่วนที่เหลืออยู่ประมาณ ๑๑ เมตร ฐานเขียงชั้นแรก สูง ๑ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วรองรับส่วนฐานของชั้นที่ ๒ โดยมีพื้นปูกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๓๒ x ๓๒ เซนติเมตร ปูอยู่บนลานทักษิณชั้นแรก ตั้งแต่ส่วนฐานชั้นที่ ๒ ขึ้นไปมีการพังทลายลงจนหมดคงเหลือแต่ส่วนแกนในของฐานปรางค์เท่านั้น ฐานปรางค์ด้านทิศเหนือปรากฏการพังทลายมากกว่าด้านอื่น เนื่องจากการลักลอบขุดเจาะหาโบราณวัตถุในสมัยปัจจุบัน ปรากฏให้เห็นฐานของเจดีย์องค์เดิมที่ถูกปรางค์สร้างครอบทับ ปรางค์ประธานมีระเบียงคดล้อมรอบ และต่อเชื่อมกับท้ายวิหารทางด้านทิศตะวันออกทางด้านทิศตะวันตกของระเบียงคดพบแนวเสากลมฉาบปูนเป็นแปดเหลี่ยม ปรากฏบันไดทางขึ้นทั้งสองข้างด้านทิศตะวันออกของระเบียงคด ส่วนอีกสามด้านพบร่องรอยของบันได ด้านละ ๕ แห่ง ระเบียงคดมีความกว้างทางทิศตะวันออก ๕ เมตร ส่วนอีกสามด้านมีขนาดความกว้าง ๖.๕๐ เมตร ระเบียงคดล้อมรอบปรางค์มีขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๔๕ x ๔๕ เมตร ที่จุดกึ่งกลางของระเบียงคดด้านในพบฐานของซุ้มประตูทางเข้าเป็นเพียงฐานของชุดบัวคว่ำอยู่ติดกับพื้น มีแนวร่องน้ำเป็นขอบเขตภายในของระเบียงคดร่องน้ำเแนวร่องรูปสามเหลี่ยมวางอิฐในแนวตั้ง ใช้อิฐวางในแนวนอนปิดทับหน้าแล้วฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง แนวร่องน้ำจะล้อมรอบซุ้มประตูทางเข้าภายในทั้งสามด้วย จากการขุดตรวจที่ฐานปรางค์ประธาน พบเพียงฐานชั้นแรกของโบราณสถานองค์เดิมเท่านั้น นอกนั้นพังทลายลงจะเกือบหมด เป็นเทคนิคการก่ออิฐสอดิน (ขนาดของอิฐ ๕ x ๑๕ x ๓๐ เซนติเมตร) ฐานชั้นแรกมีความสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ส่วนฐานชั้นถัดไปไม่ปรากฏร่องรอยแน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนฐานของเจดีย์สมัยแรกนี้ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเหนือฐานไพฑีที่ต่อเชื่อมกับเจดีย์มุม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง โดยน่าจะมีบันไดทางขึ้นสู่ฐานประทักษิณที่จุดกึ่งกลาง ฐานทั้ง ๔ ทิศ สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จากพื้นระดับแรกสุด ฐานย่อเก็จถูกรองรับด้วยฐานประทักษิณซึ่งเชื่อมกับจุดกึ่งกลางของเจดีย์มุมทั้ง ๔ องค์ เจดีย์มุมทั้ง ๔ องค์ที่ฐานของปรางค์ประธาน มีดังนี้ - เจดีย์มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเจดีย์ประจำมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ฐานที่เหลืออยู่มีความสูงประมาณ ๒ เมตร สภาพส่วนบนพังทลาย คงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐาน เป็นฐานของเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด ๕.๕๐ x ๕.๕๐ เมตร ฐานชั้นแรกมีความสูงจากพื้นดินหลังการขุดแต่งประมาณ ๑ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมลดหลั่นอีกสองชั้นรองรับชุดฐานเขียงกลมสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์รองรับบัวถลาและมาลัยเถา ส่วนบนถัดจากนี้พังทลายลงจนหมด เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับเจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์กว่าเจดีย์มุมองค์อื่นและวิเคราะห์จากสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่สันนิษฐานว่าองค์ระฆังน่าจะเป็นทรงกรวย - เจดีย์มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ประจำมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ ปรางค์ประธานฐานที่เหลืออยู่มีความสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร สภาพส่วนบนพังทลาย คงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานเป็นฐานของเจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด ๕.๕๐ x ๕.๕๐ เมตร ฐานชั้นแรกมีความสูงจากพื้นดินหลังการขุดแต่งประมาณ ๑ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมลดหลั่น อีกสองชั้น รองรับชุดฐานเขียงกลมสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์รองรับบัวถลาและมาลัยเถา ส่วนบนถัดจากนี้พังทลายลงจนหมด เมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์กว่าและวิเคราะห์จากสัดส่วนของสถาปัตยกรรมที่ยังเหลืออยู่ สันนิษฐานว่าองค์ระฆังคงจะเป็นทรงกรวยเช่นเดียวกับเจดีย์มุมประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - เจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ประจำมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์ประธาน ฐานที่เหลืออยู่มีความสูงประมาณ ๓.๕๐ เมตร เป็นเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์กว่าเจดีย์มุมองค์อื่น มีความสูงประมาณ ๓ เมตร สภาพส่วนบนพังทลายคงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐาน เป็นฐานของเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด ๖ x ๖ เซนติเมตร ฐานชั้นแรกมีความสูงจากพื้นดินหลังการขุดต่งประมาณ ๑ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมลดหลั่นอีกสองชั้นรองรับชุดฐานเรียงกลมสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์รองรับบัวถลาและมาลัยเถา ส่วนบนถัอจากนี้พังทลายลงจนหมด เมื่อวิเคราะห์จากสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ สันนิษฐานว่าองค์ระฆังน่าจะเป็นทรงกรวย - เจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเจดีย์ประจำมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ฐานที่เหลืออยู่มีความสูงประมาณ ๒ เมตร สภาพส่วนบนพังทลายและคงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐาน ซึ่งเป็นฐานของเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด ๖ x ๖ เซนติเมตร ฐานชั้นแรกมีความสูงจากพื้นดินหลังการขุดแต่งประมาณ ๑ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมลดหลั่นอีกสองชั้นรองรับฐานเขียงกลมสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์รองรับบัวถลาและมาลัยเถา ส่วนบนถัดจากนี้พังทลายจนหมด จากการเปรียบเทียบกับเจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์กว่าเจดีย์มุมองค์อื่น และวิเคราะห์จากสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ สันนิษฐานว่าองค์ระฆังของเจดีย์มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือน่าจะเป็นทรงกรวยเช่นเดียวกัน จากการขุดตรวจสอบที่ฐานเจดีย์มุมทั้ง ๔ องค์ ลงไปที่ระดับความลึก ๐.๕๐ เมตร จากระดับพื้นหลังการขุดแต่งพบว่าเจดีย์มุมทั้ง ๔ องค์ ได้สร้างทับอยู่บนตำแหน่งของเจดีย์มุมที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งเป็นเจดีย์มุมสมัยแรกพบฐานย่อมุมไม้สิบสองลดหลั่นกันสามชั้น ที่มุมภายในต่อเชื่อมกับขอบของลานทักษิณของปรางค์ประธานที่สร้างในสมัยแรก ส่วนรูปทรงของเจดีย์มุมที่สร้างในสมัยแรกไม่ปรากฏจากหลักฐานการขุดแต่งซึ่งคงถูกรื้อแล้วสร้างทับบนตำแหน่งเดิม โบราณวัตถุที่ขุดพบจากการขุดแต่งตามบริเวณฐานเจดีย์ดังกล่าว ได้แก่ กระเบื้องเชิงชายดินเผา ชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงเคลือบ ลวดลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม ลวดลายกระเบื้องเคลือบ และชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทราย กำแพงแก้วและซุ้มประตูด้านตะวันตก ปัจจุบันยังเหลือซากกำแพงแก้วเขตพุทธาวาสทางด้านตะวันตก และซุ้มประตูด้านตะวันตก ซึ่งล้วนก่ออิฐสอปูนทั้งสิ้น ประตูแบบจัตุรมุข ซุ้มแบบหน้านาง ลานภายในเขตกำแพงแก้วยังมีร่องรอยของศิลาแลงที่ใช้ปูพื้น และมีซากพระพุทธรูปหินจำหลักกองอยู่ประปรายที่ข้างอุโบสถและเนินโบราณสถาน วัดสมณโกฏฐารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ แหล่งข้อมูล:www.literatureandhistory.go.th
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)