บริการสืบค้น

Custom Search

PostHeaderIcon วัดราชบูรณะ

อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัยและโปรดเกล้าฯให้ก่อเจดีย์ 2 องค์บริเวณนั้น เมื่อคราวเสียกรุงวัดนี้และวัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก วิหารหลวงมีขนาดยาว 63 เมตร กว้าง 20 เมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ผนังวิหารเจาะเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชีพระประธานเหลืออยู่ 



พระปรางค์ประธาน เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ 2 ชั้น สามารถลงไปชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนลาง ชั้นล่างซึ่งเคยเป็นที่เก็บเครื่องทอง มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้เมื่อ 

พ.ศ. 2500 คนร้ายได้ลักลอบขุดโบราณวัตถุที่ฝังไว้ในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ โดยขุดเจาะจากพื้นคูหาเรือนธาตุลงไปพบห้องที่ฝังโบราณวัตถุไว้ 2 ห้อง ต่อมาทางราชการติดตามจับคนร้ายและยึดโบราณวัตถุได้เพียงบางส่วน โบราณวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำด้วยทองคำ สำริด หิน ดินเผาและอัญมณี เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะต่อ ได้นำโบราณวัตถุที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้มาจำหน่ายเป็นของชำร่วย วัดนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้  ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง  วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม   
หมายเหตุ  ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

PostHeaderIcon วัดเสนาสนาราม

อยู่ทางด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ "วัดเสื่อ" พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะพระอุโบสถมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าพระอุโบสถหันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีพระยืนประดิษฐานอยู่บนหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นภาพปั้นลงรักปิดทอง เป็นรูปช้างเอราวัณขนาบด้วยแตร เหนือเศียรช้างเอราวัณเป็นพระอลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ "พระสัมพุทธมุนี" เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยอยุธยาลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 2 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 นิ้วประดิษฐานเหนือบุษบกปูนปั้นลงรักปิดทอง  ฝาผนังพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรม ด้านบนเป็นภาพของเทพและอัปสรที่มาบูชาพระประธาน ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งหาชมได้ยาก ผนังด้านหน้าภายในพระอุโบสถมีพระบรมฉายาลักษณ์ทรงเครื่องต้นเฉลิมพระมหาพิชัยมงกุฎประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในกรอบไม้สัก


วิหารพระพุทธไสยาสน์  อยู่ติดกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งพระวิหารนี้สร้างขวางกับแนวพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์เป็นศิลปะแบบอยุธยา ประกอบด้วยศิลาเป็นท่อนๆ นำมาเรียงต่อกันแล้วสลักเป็นองค์พระมีขนาดยาว 14.12 เมตร แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นในวัด แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์จากวัดมหาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้



พระอินทร์แปลง  เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์เมื่อปี พ.ศ.2401 หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ สูง 3 ศอกเศษ ประดิษฐานอยู่ในวิหารซึ่งติดกับวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีตำนานเล่ากันว่า พระอินทร์แปลงทรงแปลงร่างมาสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ด้านหลังพระอินทร์แปลงเป็นซุ้มศรีมหาโพธิ์ ภายในพระวิหารปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน ทั้งสองข้างองค์พระอินทร์แปลงยกพื้นเป็นอัฒสงฆ์ พร้อมทั้งมีธรรมาสน์หินปิดทอง 2 แท่น ฝาผนังภายในพระวิหารด้านบน เป็นภาพวาดรูปทวยเทพบูชาองค์พระอินทร์แปลงและระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพวาดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชนอันเกี่ยวเนื่องด้วยวัดและพระศาสนา บานหน้าต่างเป็นภาพลายรดน้ำเป็นรูปสัตว์ 10 อย่างที่ภิกษุไม่ควรบริโภค


พระเจดีย์  ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำก่ออิฐฉาบปูนศิลปะสมัยอยุธยา สูงประมาณ 13 วาเศษ มีฐานทักษิณสี่เหลี่ยม